
วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ประกาศวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ณ ห้องประชุม กศส. อาคาร 5 ชั้น 1 เขตพื้นที่อุเทนถวาย และผ่าน Zoom Application
เวลา 09.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทองพูล ทาสีเพชร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดการเสวนาหัวข้อ “การบริหารและการจัดการเรียนการสอน ช่างเทคนิคในสถาบันอุดมศึกษา” และกล่าวรายงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันโชค เครือหงษ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลย คงปรีพันธุ์ ทำหน้าที่พิธีกรดำเนินการเสวนาและอภิปราย
ในการนี้ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศตคุณ เดชพันธ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์กัมปนาท ถ่ายสูงเนิน หัวหน้าวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ และ อาจารย์รัชชานนท์ ศักดิณากร จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อาจารย์อมรัตน์ กองยอด รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ อาจารย์นรินทร์ วิไลรัตน์ หัวหน้าแผนกวิชาช่างก่อสร้าง อาจารย์ธนาศิลป์ จูสุข หัวหน้างานฝ่ายความร่วมมือและอาจารย์ประจำสาขาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก จังหวัดสมุทรปราการ และ ดร.ศรัทธา บุญรอด นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา เป็นวิทยากรในการเสวนา โดยมีคณะผู้บริหาร หัวหน้าสาขาวิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่อุเทนถวาย นายกสมาคมผู้ปกครองและครูอุเทนถวาย พร้อมด้วยตัวแทนสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย และคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ประกาศวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เข้าร่วมการเสวนา
การจัดเสวนาครั้งนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญในการเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการหลักสูตรการศึกษาด้านวิชาชีพ เพื่อสนับสนุนแนวทางในการเปิดหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
จากนั้นช่วงบ่ายเป็นการนำข้อมูลจากการศึกษาและเสวนามาอภิปราย เสนอแนวคิด แนวทางในการเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ ของคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ประกาศวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งจากการอภิปรายคณะกรรมการทุกท่านเห็นด้วยในการเดินหน้าเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเนื่องจากเห็นว่า ทางคณะฯ มีความพร้อม และมีแนวทางในการป้องกันปัญหาในด้านต่างๆ ทั้งนี้จะต้องนำข้อมูลและแนวทางที่ได้รับมาจากการเสวนา การดูงาน มาประมวลผลพร้อมศึกษาเพิ่มเติมให้รอบด้าน ก่อนทำเอกสารที่เกี่ยวข้องในการเปิดหลักสูตร เพื่อดำเนินการในขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป โดยคณบดีมีความคาดหมายว่าในปีการศึกษา 2569 จะสามารถเปิดหลักสูตร ปวส. ได้